กองสลาก รื้อระบบลงทะเบียนผู้ค้าใหม่ เร่งหาทางออกปัญหา “หวยแพง”

สำนักงานสลากฯ รื้อระบบลงทะเบียนผู้ค้าสลากใหม่ตัดตอนผู้ค้านำไปขายช่วง พร้อมรีบสรุปข้อเสนอทุกฝ่ายเสนอบอร์ดสลาก 23 ก.ย.นี้ หาแนวทางแก้ไขปัญหา “หวยแพง” เร่งด่วน เตรียมตัดสิทธิ์ข้าราชการ ไม่ควรขายหวยแย่งอาชีพประชาชน

วันที่ 11 ก.ย.63 นายธนวรรธน์ พลวิชัย กรรมการและโฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า สำนักงานสลากฯ ได้จัดเสวนาการปรับโครงสร้างการกระจายสลาก รวมถึงการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคา โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ผู้ค้าสลากรายย่อย สื่อมวลชน รวมทั้งนักวิชาการอิสระ โดยในการเสวนาในครั้งนี้แต่ละฝ่ายมีข้อเสนอการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน ดังนั้นสำนักงานสลากฯ จะนำข้อเสนอทั้งหมดไปสรุปเพื่อเสนอในการประชุมคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในวันที่ 23 ก.ย.นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสลากราคาแพงอย่างเร่งด่วน

“สำนักงานสลากฯ เห็นสัญญาณเรื่องสลากเกินราคามาตั้งแต่เดือนพ.ค.แล้ว โดยพบว่ามีผู้ค้าสลากหน้าใหม่มาซื้อสลากจำนวนมากเพราะตกงานจากช่วงโควิด-19 ทำให้ความต้องการสลากสูงขึ้น ดังนั้นตลาดสลากขายส่งจึงขึ้นราคาสลากถึง 90 บาทต่อฉบับตั้งแต่ต้นทาง ในขณะที่ผู้ค้าสลากที่เคยขายสลากราคาปกติเมื่อเห็นราคาที่จูงใจจึงมีการขายช่วงสลาก เพื่อหวังกำไรเฉพาะหน้ามากขึ้นตามไปด้วย”

สำหรับในส่วนข้อเสนอผู้ค้ารายย่อยและสมาคมผู้พิการที่สำนักงานสลากฯ รับพิจารณาไว้ มี 2 แนวทาง คือ

  1. ต้องการให้พิมพ์สลากเพิ่ม เพราะจำนวนสลาก 100 ล้านฉบับไม่เพียงพอต่อความต้องการ
  2. อยากให้ตัดตอนผู้ค้าสลากที่นำสลากไปขายช่วง โดยแนะนำให้สำนักงานสลากเปิดลงทะเบียนผู้ค้าสลากใหม่เพื่อคัดกรองผู้ค้าสลากตัวจริง

หลังจากสำนักงานสลากฯ เปิดลงทะเบียนผู้ค้าสลากไปเมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา แต่ปัจจุบันมีผู้ค้าสลากนอกระบบเพิ่มขึ้นจึงควรดึงผู้ค้าสลากเหล่านี้มาเข้าระบบให้ถูกต้องด้วย

“ปัจจุบันมีผู้ร้องเรียนว่าผู้ค้าสลากที่ขายช่วง มีข้าราชการได้รับสิทธิขายสลากด้วยจากผู้จองซื้อสลากในระบบ 100,000 ราย ดังนั้นสำนักงานสลากฯ จะนำรายชื่อผู้จองซื้อสลากทั้งหมดไปตรวจสอบว่าใครเป็นข้าราชการบ้างแล้วตัดสิทธิ์ เพื่อจำหน่ายสลากให้กับประชาชนทั่วไป เพราะมองว่าข้าราชการควรจะยึดอาชีพของรัฐ ไม่ควรมาหาอาชีพเสริมจากการขายสลาก”

ส่วนความต้องการสลากของผู้ขายเกินเพดาน 100 ล้านฉบับแน่นอน แต่ในส่วนประชาชนยังยังไม่มีความต้องการซื้อเกิน 100 ล้านฉบับ ดังนั้นสำนักงานสลากฯ จึงยังไม่มีความคิดจะพิมพ์สลากเพิ่ม ส่วนความเห็นที่ให้สำนักงานสลากฯจัดสลากแบบรวมชุด(คละเลข) 2-2-1 ให้ประชาชนเพิ่มจาก 5 เล่ม เป็น 10 เล่ม หากระบบซื้อจองในวันแรก ยังมีสลากเหลืออยู่นั้น สำนักงานสลากฯจะรับไว้พิจารณาก่อน

ขณะที่ภาคประชาชนและนักวิชาการนั้น เสนอแนะให้สำนักงานสลากเพิ่มช่องทางใหม่ๆ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเรื่องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือการขายสลากผ่านระบบออนไลน์นั้น สำนักงานสลากฯ จะดำเนินการในปี 2564 โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมผู้ที่เกี่ยวข้องเนื่องจากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่มักจะส่งผลกระทบต่อผู้ค้ารายย่อยทุกครั้ง

ร้อยเอกนิตย์ชาญ สุปินะ ประธานกลุ่มสหภาพฯ และเครือข่ายองค์กรคนพิการ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องการรวมชุดหรือการไม่ให้ขายส่ง และการกำหนดให้ขายปลีกใบละ 80 บาทนั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะแม้ว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะกำหนดโทษหรือตัดสิทธิ์ในการรับสลาก กับตัวแทนรายย่อย แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้หมดไปจากวงจร เพราะการตัดสิทธิ์คนเก่าเอาคนใหม่เข้ามารับสลากแทน เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อผู้รับสลากเท่านั้น ดังนั้นกลุ่มสหภาพฯ จึงเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาสลากแพง ดังนี้

  1. พิมพ์สลากเพิ่มให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย อย่างน้อย 400 ล้านฉบับ
  2. จัดสรรสลาก ให้แก่ตัวแทนรายย่อยและองค์กรนิสิตบุคคล โดยเฉพาะจัดสรรให้กับคนพิการและองค์กรของคนพิการที่ยังไม่มีโควตาสลาก หรือมีโควตาน้อย เพื่อให้เพียงพอกับสมาชิกที่จะขอรับสลากไปจำหน่ายหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว
  3. ปรับรูปแบบของสลากใหม่ โดยการพิมพ์สลากฯ เป็นแบบฉบับคู่เหมือนแต่ก่อน แต่ราคาเปลี่ยนเป็นคู่ละ 160 บาท แล้วก็สามารถแบ่งขายทีละฉบับ ฉบับละ 80 บาทได้ ซึ่งวิธีการนี้จะเป็นการเพิ่มปริมาณของสลาก และลดต้นทุนในการพิมพ์สลาก รวมทั้งเพิ่มรายได้ส่งเข้ารัฐอีกด้วย
  4. ปรับรูปแบบการออกสลากใหม่ ขอให้ยกเลิกการออกรางวัลแบบเลขหน้า 3 ตัว หมุน 2 ครั้ง แล้วกลับมาใช้รูปแบบเดิม คือ รางวัลเลขท้าย 3 ตัว หมุน 4 ครั้ง

ด้านนายสมชาย ปัญญ์เอกวงศ์ ประธานฝ่ายส่งเสริมอาชีพและการจ้างงาน กล่าวว่า เสนอให้คนพิการที่อยู่ในระบบซื้อจองสลากฯกว่า 7,000 ราย สามารถซื้อโดยตรงได้เลย เพราะการซื้อจองตั้งแต่วันที่ 5 และต้องมารับสลากฯวันที่ 20 ของเดือน ทำให้คนพิการที่ส่วนมากกู้ยืมนอกระบบมาจองซื้อสลาก ได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่แพง และเสนอขอให้ลดราคาสลากเหลือใบละ 40 บาท แล้วพิมพ์เพิ่มอีก 100 ล้านฉบับ เพื่อช่วยคนตกงานให้เข้ามาอยู่ในระบบอีก 200,000 ราย.